Sunday, September 30, 2012

มะขาม (Tamarind)

มะขาม (Tamarind)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Tamarindus indica L.
มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามากไม่มีหนาม เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ประกอบ ด้วยใบย่อย 10–15 คู่ แต่ละใบย่อยมีขนาดเล็ก กว้าง 2–5 มม. ยาว 1–2 ซม. ออกรวมกันเป็นช่อยาว 2–16 ซม. ดอก ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดง/ม่วงแดงอยู่กลางดอก ผล เป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และ/หรือหวาน ซึ่งฝักหนึ่ง ๆ จะมี/หุ้มเมล็ด 3–12 เมล็ด เมล็ดแก่จะแบนเป็นมัน และมีสีน้ำตาล
ใบของมะขามเป็นใบประกอบแบบขนนก (pinnately compound leaves) ใบย่อยแต่ละใบแยกออกจากก้าน 2 ข้างของแกนกลาง คล้ายขนนก ถ้าปลายสุดของใบจะเป็นใบย่อยเพียงใบเดียวเรียก แบบขนนกคี่ (odd pinnate) เช่น กุหลาบ อัญชัน ก้ามปู ถ้าสุดปลายใบมี 2 ใบ เรียกแบบขนนกคู่ (even pinnate) เช่น มะขาม
การปลูกมะขาม ทำได้โดยเตรียมดินโดยขุดหลุมกว้าง ยาวและลึกด้านละ 60 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้าดินรองก้นหลุมเอากิ่งพันธุ์ลงปลูก รดน้ำให้ชุ่ม มะขามเมื่อลงดินแล้วจะโตเร็ว ควรใช้ไม้หลักพยุงไว้ให้แน่น และการบำรุงรักษาหลังเริ่มปลูก ควรเอาใจใส่ดายหญ้ารอบต้น และรดน้ำทุกวัน
คุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณ:
ผลมะขาม ประกอบด้วยกรดอินทรียืหลายตัว เช่น กรดทาร์ทาริก กรดซิตริก เป็นต้น กรดเหล่านี้มีฤทธิ์ระบายและลดความร้อนของร่างกายลงได้ การแพทย์แผนไทยเชื่อว่า รสเปรี้ยวจากมะขามนี้จะช่วยกัดเสมหะให้ละลายได้  ทั้งยังช่วยเป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ น้ำมะขามเปียกยังใช้ขัดเครื่องทองเหลืองเครื่องเงินให้เป้นเงางาม คนโบราณใช้น้ำมะขามละลายกับน้ำเกลือ สวนทวารแก้ท้องผูก และดื่มแก้กระหายน้ำ กับทั้งเป็นยาขับเลือดลมของผู้หยิงหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ ยอดอ่อนและฝักสด มีแคลเซียม ฟอสฟอรัสและวิตามินซีมาก บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ไม่เปราะง่าย และช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค มีธาตุเหล็ก ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ใบ มีแคลเซียม เส้นใย และฟอสฟอรัส บำรุงเป็นยาแก้โรคบิด แก้ไอ ต้มน้ำรวมกับหัวหอมโกรกหัวเด็กแก้หวัดคัดจมูก เมล็ด มีมิวซิเลจสูง มีไขมัน คาร์โบไฮเดรต น้ำมันชนิด semidrying fixed oil และอื่น ๆ เมล็ดคั่วไฟและกะเทาะเปลือกออก กินแก้อาการท้องร่วง แก้อาเจียน แก่น แก้ฝีในมดลูก แก้อาการสะอึก และรักษาโรคบิด